ลัทธิโยเร คืออะไร? ความสุภาพอ่อนโยน ความสงบเสงี่ยม และความสะอาด

“ลัทธิโยเร” มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เซไกคีวเซ” ลัทธิเซไกคีวเซ (ญี่ปุ่น: 世界救世教; โรมาจิ: Sekai Kyūsei Kyō)

ในไทย เป็นที่รู้จักในชื่อ ลัทธิโยเร เป็นหนึ่งในศาสนาใหม่ของญี่ปุ่น เกิดขึ้นจากการผสานความเชื่อของลัทธิชินโต ศาสนาพุทธนิกายมหายาน และหลักจริยธรรมสากล

Meishu Sama’s Johrei

ลัทธิเซไกคีวเซ ก่อตั้งโดยโมกิจิ โอกาดะ (ญี่ปุ่น: 岡田茂吉; โรมาจิ: Okada Mokichi) เมื่อ พ.ศ. 2478 มีความเชื่อเรื่องการส่งพลังแสง (หรือเรียกว่า แสงทิพย์) แห่งผ่านฝ่ามือสู่ร่างกายเพื่อจุดประสงค์ในการรักษา เรียกว่า โยเร (ญี่ปุ่น: 浄霊; โรมาจิ: Jōrei)

และยังมีแนวปฏิบัติอื่นโดยเฉพาะเรื่องความงามและศิลปะจากธรรมชาติ เช่น เกษตรกรรมธรรมชาติ และการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น

โมกิจิ โอกาดะ เกิดในครอบครัวที่นับถือศาสนาพุทธ ต่อมาได้หันไปนับถือลัทธิชินโต สายโอโมโตะ (ญี่ปุ่น: 大本; โรมาจิ: Ōmoto)[13]

โดยอ้างตัวว่า ได้รับวิวรณ์จากพระเป็นเจ้า ซึ่งมอบอำนาจให้เขาใช้พลังของพระเป็นเจ้าด้วยการใช้แสงสำหรับการรักษา เพื่อขจัดความเจ็บป่วย ความยากจน ความขัดแย้ง และชำระอาณาจักรแห่งจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์

เขาจึงรับหน้าที่เป็นศาสนทูตคอยเผยแผ่ศาสนาของตนเองแก่ผู้คน โดยสาวกจะเรียกเขาว่า เมชูซามะ หรือเอกสารไทยเรียก เมซึซามะ (ญี่ปุ่น: 明主様; โรมาจิ: Meishū-sama, “ท่านแห่งแสง”)

Meishu Sama’s Johrei

ศาสนิกชนจะสวมจี้ โอฮิการิ ซึ่งในไทยจะเรียกว่า เหรียญ โดยมีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเปล่งรัศมี

การรับเหรียญดังกล่าว จะเรียกว่า “การรับพระ” ซึ่งต้องใช้เงินซื้อมา และต้องอบรมศาสนาราว 2-3 วัน จึงจะเข้าเป็นศาสนิกโดยสมบูรณ์

มิโฮโกะ โคยามะ ก่อตั้งองค์กรชินจิชูเมไก (ญี่ปุ่น: 神慈秀明会; โรมาจิ: Shinji Shūmeikai) เมื่อ พ.ศ. 2513 เพื่อเผยแผ่คำสอนของโมกิจิ โอกาดะ

วินสตัน เดวิส (Winston Davis) นักมนุษยวิทยาด้านศาสนา ให้ความเห็นเกี่ยวกับลักษณะของลัทธิมาฮิการิ (真光系諸教団) และลัทธิเซไกคีวเซ ซึ่งต่างก็เป็นศาสนาใหม่ของญี่ปุ่นไว้ว่า “ลัทธิมาฮิการิเหมือนกับลัทธิเซไกคีวเซ เพราะปฏิบัติพิธีกรรมการรักษาแบบเดียวกัน”

ลัทธิ “โยเร” ในประเทศไทย

ลัทธิเซไกคีวเซ หรือ โยเร เข้าสู่ประเทศไทยใน พ.ศ. 2511 โดยคาซูโอะ วากูกามิ ศาสนาจารย์คณะผู้เผยแผ่มาตั้งรกรากในประเทศไทย

โดยเริ่มการเผยแผ่คำสอนโดยการแปลเอกสารทางศาสนา และก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมในประเทศไทย

จึงได้ทำการจดทะเบียนโดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา” เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 มีสำนักงานใหญ่แห่งแรกอยู่ที่ถนนสุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร

ขณะนั้น มีศาสนิกชนอยู่ทั้งหมด 40 คน ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2519 กรมการศาสนารับรองให้ มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา เป็นองค์กรศาสนาย่อยของศาสนาพุทธนิกายมหายาน

ลัทธิเซไกคีวเซเริ่มวางนโยบายเผยแผ่ศาสนาแก่ลูกหล่านเกษตรกรในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยในช่วง พ.ศ. 2521–2524 มีศาสนิกชนเพิ่มขึ้นเท่าตัว มีการสร้างสถานปฏิบัติธรรมหรือโบสถ์ของลัทธิในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย สระบุรี และย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่ซอยสีฟ้า ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร

กระทั่ง พ.ศ. 2527 ได้ทำการเพิกถอนสถานะการเป็นนิกายของศาสนาพุทธนิกายมหายานลง จึงถูกลดสถานะกลับเป็นมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนาตามเดิม

พวกเขามีกิจกรรมสนับสนุนทุนการศึกษาศาสนาพุทธแก่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประจำทุกปี และการต่อต้านยาเสพติด รวมทั้งปรับปรุงวิธีการเผยแผ่ศาสนาด้วยการสนับสนุนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวัฒนธรรมไทย

Johrei Coin

ผู้ที่จะเข้ารีตลัทธิเซไกคีวเซจะต้องรับจี้ โอฮิการิ หรือที่เข้าเรียกว่า การรับพระ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย ต้องคอยปฏิบัติศาสนกิจเรียกว่า กิจกรรมพระ (คือพระศรีอริยเมตไตรย) ได้แก่ การซัมไป (สักการะ) การโยเร และ การโฮชิ (บำเพ็ญประโยชน์) รวมทั้งต้องเผยแผ่ศาสนาเพื่อเพิ่มจำนวนศาสนิกชนให้มากขึ้น

มีคำสอนสำคัญแก่สมาชิก คือ ความสุภาพอ่อนโยน ความสงบเสงี่ยม และความสะอาด

ที่สำคัญที่สุดคือ การทำโยเร หลังการรับพระพวกเขาจะบูชาเหรียญพระโยเร โดยกล่าวคาถาบูชาว่า “ขออำนาจพระศรีรัตนตรัยและท่านเมซึซามะ ขอให้คนข้างหน้าจงมีความสุข” หรือบ้างก็กล่าวว่า “ขออำนาจบารมี คุณพระศรีอริยเมตไตรย และท่านเมซึซามะ โปรดประทานแสงทิพย์ เพื่อชำระเมฆหมอกความขุ่นมัว”

จากนั้นจะยกมือขึ้นระดับศีรษะ หันมือเข้าหาผู้รับแสง ยกค้างไว้ 10-15 นาที วันละครั้งหรือสองครั้ง เพราะเชื่อว่าเป็นการรักษาโรคภัย

ที่มาข้อมูล : wikipedia.org

ที่มารูปภาพ : tohonohikari.or.jp